การวิจัยแบบภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเข้มข้นของฝุ่นละอองและเชื้อราในอากาศบริเวณโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดขอนกระด้าง และเห็ดฮังการี ในจังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 16 โรงเรือน โดยใช้เครื่องวัดฝุ่น Turnkey Dustmate Monitor และเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของราในอากาศ Single-stage impactor ตาม NIOSH method 0800 ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอนภายในโรงเรือนเพาะเห็ดทั้ง 4 ชนิดทุกโรงเรือนมีค่าสูงเกินขอกําหนดของกรมอนามัย แต่ไม่เกินมาตรฐาน ของ ACGIH และ OSHA ความเข้มข้นของเชื้อราในโรงเรือนเพาะเห็ดฮังการีมีค่าสูงสุด คือ 904.03 ±143.57 CFU/m3 มากกว่าโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน และเห็ดขอนกระด้าง ตามลำดับ และทุกโรงเรือนมีความเข้มข้นของเชื้อราเกินข้อกำหนดของกรมอนามัย โดยพบชนิดเชื้อรา Aspergillus sp., Aspergillus niger, Fusarium sp. Penicillium sp. และ Curvularia sp. ซึ่งสามารถก่อโรคในระบบทางเดินหายใจในผู้ทำงานได้หากได้รับในปริมาณมาก หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผลการวิจัยในครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในโรงเรือนโดยเฉพาะฝุ่นละอองและเชื้อรา เพื่อป้องกันอันตรายและลดสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยสำหรับผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับฝุ่นละอองและเชื้อราในอากาศเป็นเวลานาน